Monthly Archives: สิงหาคม 2011

นร.ร้องขอสพฐ.อย่าปิดร.ร.


นร.ร้องขอสพฐ.อย่าปิดร.ร.

เด็กนักเรียนพร้อมผู้ปกครองยื่นหนังสือร้องขออย่าปิดโรงเรียนเล็ก

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 30 ส.ค.54  เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 โรงเรียนวัดใหญ่ (บุญเอี่ยม อนุเคราะห์) หรือวัดใหญ่นครชุมน์ ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จำนวน 32 คน พร้อมด้วยผู้ปกครองจำนวนหนึ่ง ซึ่งนำโดยนายสมัย แก้วสะอาด กำนัน ต.นครชุมน์ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ นายธนนท์ พรรพีภาส ปลัดอาวุโสอำเภอบ้านโป่ง

โดยขอให้ช่วยส่งหนังสือต่อไปยัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐานเขต 2 เพื่อขอระงับการสั่งปิดร.ร. ซึ่งเป็นร.ร.เก่าแก่มีอายุมากกว่า 100 ปี ทำให้ชาวบ้านที่ผูกพันกับร.ร.เก่าแก่แห่งนี้ ต่างก็คัดค้าน รวมทั้งเด็กนร.เองก็ต้องไปเรียนในร.ร.ที่ไกลบ้านออกไป ทำให้ไม่ได้รับความสะดวก และต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งการสั่งปิดร.ร.นั้นสืบเนื่องมาจาก สพฐ.เขต 2 ได้มีนโยบายที่จะทำการปิดร.ร.ในระดับประถมศึกษาที่มีนร.น้อย หรือร.ร.ที่ไม่มีนร.มาเรียน และร.ร.วัดใหญ่นครชุมน์เองก็มีนร.เพียง 32 คน ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่สพฐ.ตั้งไว้ คือต้องมีเด็กอย่างน้อย 40 คน ทำให้นางนิษฐ์วดี จิรโรจน์ภิญโญ ผอ.ร.ร. ได้ทำหนังสือเชิญคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองของเด็กนร.มา ร่วมประชุมในวันที่ 18 ส.ค.54  และทำการสั่งปิดร.ร.ในวันที่ 19 ส.ค.54 โดยให้เด็กนร.จำนวน 32 คนนั้นไปเรียนในร.ร.ประถมอีกร.ร.หนึ่ง คนอ่าน 83 คน

แหล่งที่มา    หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Tablet กับการพัฒนา Content


Tablet กับการพัฒนา Content

นายวรวัจน์  เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาเนื้อหาเพื่อบรรจุใน Tablet เมื่อเร็วๆ นี้ ในรายการ “คุยนอกทำเนียบ” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
รมว.ศธ.กล่าวว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ Tablet คือ เนื้อหา ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ ๒๕๕๕ ภายใต้กรอบเวลา ๒ ปี ศธ.จะสามารถพัฒนา ๕ ศักยภาพของพื้นที่ ใน ๕ กลุ่มอาชีพใหม่ ให้สามารถแข่งขันได้ใน ๕ ภูมิภาคของโลก สำหรับหลักสูตรใหม่ของ ๕ กลุ่มอาชีพนั้นแบ่งตามทักษะ องค์ความรู้ และอัจฉริยภาพของเด็ก ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พณิชยกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และด้านอำนวยการและอาชีพเฉพาะทาง ทั้งนี้ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในระดับพื้นที่จัดทำแผนพัฒนาจังหวัดร่วมกับอาชีวศึกษา และมีส่วนกลางเป็นเครือข่าย โดยมหาวิทยาลัยทำแผนด้านวิชาการ อาชีวศึกษาทำแผนเรื่องหลักการปฏิบัติ เพื่อผลิตหลักสูตรให้มัธยมศึกษาและประถมศึกษา

ต่อไปหลักสูตรจะเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษา ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัย/คณะ/ภาควิชา จะแบ่งกันรับผิดชอบเนื้อหาในแต่ละวิชาและช่วงชั้น ที่จะสัมพันธ์กับทรัพยากรของจังหวัด เนื้อหาของหลักสูตรจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับศักยภาพของพื้นที่ ศธ.มีองค์ความรู้ขนาดใหญ่ เมื่อแบ่งงานกันทำ ก็สามารถผลิตเนื้อหาได้ และจะเริ่มต้นในระดับประถมศึกษา คือชั้น ป.๑ ก่อน เพราะเป็นเรื่องการฝึกทักษะและการเริ่มต้นการเรียนรู้ หลังจากนั้นก็จะพิจารณาตำราที่มีอยู่ในปัจจุบันว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หากไม่เหมาะสม ก็สามารถเปลี่ยนตำราเป็น Tablet โดยจะเริ่มทำเนื้อหาให้เสร็จ และใช้เงินเรียนฟรี ๑๕ ปีในส่วนที่ต้องซื้อตำราแจก ไปซื้อ Tablet แทน ซึ่งจะมีประโยชน์ใช้สอยมากกว่าตำรา

รมว.ศธ.กล่าวถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย รวมทั้งมหาวิทยาลัยของไทย เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ที่จะเป็นผู้จัดทำเนื้อหาขึ้นมา หากจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ระดับสูงขึ้น ก็ให้ประสานกับมหาวิทยาลัยหลักในส่วนกลาง สภาวิจัยแห่งชาติ สวทช. เป็นต้น เพื่อนำผลงานวิจัยมาแปลงสู่ภาคปฏิบัติ เมื่อมหาวิทยาลัยทำเนื้อหาของตนเอง ก็สามารถพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ได้ โดยมีอาชีวศึกษาเป็นเครือข่าย เป็นการสร้างพลังที่สามารถนำมาใช้ได้ สถาบันการศึกษาจะมีการทำบริษัทจำลองขึ้นมา มีการซื้อขาย ส่งสินค้า มีการเรียนรู้ พัฒนาการ เมื่อจบการศึกษาก็สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ รัฐบาลจะจัดสรรกองทุนตั้งตัวได้ไปให้มหาวิทยาลัย เมื่อนักศึกษามีรายได้ ก็จะนำไปสู่การมีค่าเล่าเรียน มีค่าใช้จ่าย ครูก็จะมีส่วนในเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินครู นับเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจเพื่อมาพัฒนาการศึกษา และสร้างความเข้มแข็งให้การศึกษาทั้งระบบ ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปการศึกษา จัดระบบการศึกษาให้เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ

สำหรับการผลิต Tablet นั้น ได้ขอให้มหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษาไปหารือกันในรายละเอียด เนื่องจากมีหลายมหาวิทยาลัยเสนอตัวเป็นผู้ผลิต และอาชีวศึกษาก็เสนอให้วิทยาลัยเทคนิคเป็นผู้ประกอบ ดังนั้น หากให้โอกาสในการพัฒนาและลงมือปฏิบัติก็จะนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น นับเป็นความร่วมมือของวงการศึกษาอย่างแท้จริง

ขอขอบคุณ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

ไม่บังคับแจกแท็บเล็ตขอดูความพร้อม“วรวัจน์”ยันคนรวยไม่ให้กู้กรอ.


วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล  รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.)  กล่าวถึงกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอภิปรายท้วงติงนโยบายการศึกษาหลายเรื่องมีความไม่เหมาะสมว่า  เรื่องการแจกคอมพิวเตอร์พกพา หรือแท็บเล็ตนั้น ตนได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ไปศึกษาอยู่และจะนำมาพิจารณาว่าจะแจกกันอย่างไร แต่ทั้งนี้จะยึดความพร้อมของโรงเรียน ครูและนักเรียนเป็นสำคัญ หากใครมีความพร้อมก็จะแจกให้ไป แต่ถ้าไม่พร้อมก็ไม่บังคับแจก นอกจากนี้ตนยังได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)สอบถามความต้องการไปยังโรงเรียนทั่วประเทศแล้ว ซึ่งจะต้องดูหลายด้าน เช่น ความพร้อมของครู หรือความพร้อมของคู่สายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ส่วนที่มีการอภิปรายว่าการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนป.1 ไม่เหมาะนั้น  ตนยืนยันว่าเครื่องที่จะแจกเด็กป.1 ไม่ใช่เทคโนโลยีสูงแต่จะออกแบบให้ง่ายและเหมาะสมกับวัย เหมือนเป็นของเล่น ส่วนระดับชั้นอื่นๆก็จะเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงชั้น

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า  ส่วนกรณีการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูที่ตนจะให้ผู้ปกครอง เข้ามาประเมินข้าราชการครูที่ยื่นขอวิทยฐานะ เพราะต้องการให้ผู้ปกครองและ ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมิน ซึ่งจะสามารถบอกได้ดีที่สุดกว่ากรรมการที่เป็นใครก็ไม่ทราบและไม่เคยอยู่ในชุมชนมาก่อน โดยการประเมินวิทยฐานะแนวทางใหม่ที่อยากให้ปรับจะเน้นประเมินจากผลลัพธ์ หรือผลสัมฤทธิ์ที่ออกมา ดังนั้นต่อไปข้าราชการครูไม่ต้องทำผลงานเล่มหนาๆ หรือต้องไปเสียเงินจ้างคนอื่นทำนับแสนบาทเพราะตนจะลดการทำผลงานที่เป็นเอกสารให้เหลือน้อยที่สุด อาจจะต้องมีบ้างเล็กน้อยเท่านั้น โดยได้มอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ไปพิจารณาเพื่อจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินแบบใหม่แล้ว และหากจะต้องแก้กฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องก็ต้องดำเนินการ ซึ่งคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร  ทั้งนี้ตนคิดว่าจริงๆแล้วข้าราชการครูก็ไม่ได้พึงพอใจระบบการประเมิน วิทยฐานะในปัจจุบันเท่าใดนัก เพราะจากการรับฟังความเห็นของครูก็สะท้อนออกมาว่าทำให้ไม่ค่อยมีเวลาในการสอนนักเรียน

“ สำหรับกรณีกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต(กรอ.)ที่ผู้อภิปรายแสดงความห่วงใยนั้น ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำรายละเอียดต่างๆ อยู่ แต่ก็สบายใจได้ว่ากรอ.จะเน้นดูแลเด็กที่ยากจน ด้อยโอกาสจริงๆไม่ใช่ว่าใครร่ำรวยแล้วจะมากู้เงินจากกองทุนนี้ก็ได้ โดยการคัดเด็กที่มีสิทธิกู้ยืมจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาจะต้องไปคัดเด็กมา อย่างไรก็ตามการที่ผมถูกอภิปรายหลายๆเรื่องก็ไมได้รู้สึกกังวลอะไรและมองว่าเป็นเรื่องดีที่จะนำข้อห่วงใยหรือข้อเสนอแนะต่างๆมาดำเนินการ ซึ่งหลายๆเรื่องผมก็ทราบปัญหาอยู่แล้ว” นายวรวัจน์ กล่าว.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=42&contentID=159499